การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำในตัวคุณให้แข็งแกร่ง


ปัจจุบันเราจะประสบปัญหา เรื่อง วิกฤติผู้นำกันอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ, องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ เพราะดูเหมือนเราจะหาผู้นำที่เป็น “ของแท้” หรือ ผู้นำที่ “น่าเชื่อถือ” จริงๆ นั้นยากมาก การสร้างให้คนในองค์กรมีภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพื่อที่จะทำให้องค์กรพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง (Change) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากในขณะนี้

นิยาม “ผู้นำ” ในด้านต่างๆ มีมากมาย หลากหลายทฤษฎี ขึ้นอยู่กับว่าใครจะชอบแบบไหน และแต่ละคนนั้นก็มี Style ของความเป็นผู้นำที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจะบอกว่า ผู้นำแบบดีกว่ากันนั้น คงไม่สามารถบอกได้ และไม่สมควรที่จะนำมาพูดกันด้วย เพราะผู้นำแต่ละแบบก็มีข้อดี- ข้อเสียแตกต่างกัน รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ภาวะความเป็นผู้นำก็อาจแตกต่างันไปด้วย

สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของ ภาวะความเป็นผู้นำของตัวเราเอง มากกว่าว่า เราสามารถที่จะเป็นผู้นำได้ดีแค่ไหน มีความน่าเชื่อถือจากบุคคลอื่นๆ มากน้อยอย่างไร สามารถบอกได้หรือไม่ว่าเราเป็นผู้นำ “ของแท้” เพราะความเป็นผู้นำนั้นอยู่ภายในตัวเรา แล้วเราแสดงออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ ไม่ใช่ตำแหน่ง หรือสิ่งที่เราบอก ดังนั้นการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำในตัวเองให้แข็งแกร่ง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อเรามากที่สุด

ผมขอแนะนำแนวความคิดของคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่เด่นๆ บางส่วนมาแลกเปลี่ยน เพื่อเป็นมุมมองสำหรับการพัฒนาตัวเอง ของแต่ละคน ที่ชอบคุณสมบัติไหนเป็นพิเศษ ก็หยิบไปพัฒนาตัวเองได้ ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกคุณสมบัติเหล่านี้ ผมใช้ประสบการณ์ของตัวเอง ในการอ่านหนังสือ, การบริหารงาน, การเป็นที่ปรึกษา, การเป็นโค้ช และสังเกตจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั่วๆไป มาเขียนเป็นแนวความคิดของผม ดังนี้ครับ

• การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน
ผู้นำต้องมีความฝัน (วิสัยทัศน์) ที่ชัดเจน และยึดมั่นต่อความฝันของตัวเองอย่างแน่วแน่ เพื่อไม่ให้ผู้ตามไขว้เขว และวิสัยทัศน์ของเรานั้นหากยิ่งใหญ่ และชัดเจนเท่าใด ก็จะทำให้มีผู้ตามมากขึ้นเท่านั้น หากเราไม่มีความฝัน ก็ยากที่จะมีผู้ตาม เพราะผู้อื่นจะไม่รู้ว่าเราจะไปที่ไหนก็เลยไม่รู้ว่าจะไปทำไม

• ความเชื่อมั่นในตัวเองหากไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ เราไม่มีวันที่จะทำได้แน่นอน ถ้าทำได้ก็แสดงว่า ฟลุ๊ก ดังนั้นความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ก่อนการลงมือทำ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในตัวเองใครจะมาเชื่อมั่นในตัวเรา ทัศนคติเชิงบวกจะช่วยให้เราเชื่อมั่นในศักยภาพของเรามากขึ้น โดยเราต้องบอกตัวเอง อยู่เสมอๆ ว่า “เราทำได้!” แล้วเราก็จะทำสำเร็จได้จริงๆ

• ความมุ่งมั่น ทุ่มเท ในแผนงานอย่างต่อเนื่องผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ตามหรือทีมงาน ถ้าเราไม่มุ่งมั่น ทุ่มเท กับแผนงานที่เราคิดและเขียนขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เราคงไม่สามารถบอกให้ผู้อื่นทุ่มเทได้ เพราะผู้นำเป็นอย่างไร ผู้ตามก็จะเป็นอย่างนั้น ลองสังเกตดูได้เวลาที่เรารู้สึกขี้เกียจสักพักจะเห็นน้องๆ เริ่มเฉื่อยๆ เลยครับ

• การสื่อสารความเข้าใจกับผู้อื่นวิสัยทัศน์ และแผนงานของเรา ต้องได้รับการยอมรับจากทีมงาน มิเช่นนั้น เราก็ต้องทำงานคนเดียว ซึ่งก็คงไม่สำเร็จแน่นอน ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่าการสื่อสารของเราไปถึงทีมงานนั้น ได้รับการตอบรับอย่างดี ทุกคนเข้าใจในเรื่องที่เราสื่อสารอย่างชัดเจน ดังนั้นการสื่อสารจึงต้องมุ่งเน้นที่ผู้ฟังเป็นสำคัญ ต้องใช้ ข้อความและภาษาที่เหมาะกับเขา เป็นหลัก มิใช่พูดแบบเดิมกับทุกกลุ่ม ซึ่งจะไม่ได้ผลแน่นอน

• รับฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจการรับฟังเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้นำ เพราะการรับฟังทำให้ผู้นเข้าใจผู้อื่น เพราะหากเราต้องการนำใครแล้ว เราควรเข้าใจในความต้องการของเรา มิเช่นนั้นเราก็จะไม่ได้ความไว้วางใจจากเขาเลย เมื่อผู้นำรับฟังผู้อื่น มากขึ้น ผู้อื่นก็จะรับฟังผู้นำอย่างเต็มใจ แต่ปัจจุบัน ผู้นำหลายคนไม่ค่อยฟังผู้อื่น ส่วนใหญ่แล้วจะยึดถือความคิดของตัวเองเป็นหลักมากกว่า

• การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ดังนั้นเราจึงควรเป็นผู้นำ360องศา คือเป็นผู้นำรอบทิศทาง ดังนั้นคุณสมบัติความมีมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลรอบด้านที่ดีเยี่ยม ก็จะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับบุคคลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และจะได้รับความร่วมมือที่ดี สุดท้ายงานก็จะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้

• ความมีใจรักในงานที่ทำไม่มีใคราทำอะไรได้ดี ในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ และคนส่วนใหญ่ก็จะทำในสิ่งที่ตัวเองรักอย่างจริงจัง และมีความสุขจึงลืมความเหน็ดเหนื่อยไปเลย ผู้นำที่มีความรักในงานที่ทำอย่างลุ่มหลง ก็จะทำงานนั้นอย่างเต็มที่ ไม่ย่อท้อ แม้ว่าจะเจออุปสรรคต่างๆ มากมาย ก็จะทำให้ผู้ตามมองเห็น และอยากร่วมงานนั้นมากขึ้น เพราะพลังที่ผู้นำใช้ในการทำงานก็จะแพร่ไปถึงผู้ตามด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ทีมงานกระตือรือร้นในเป้าหมายนั้นร่วมกัน

• การรู้จักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์บทพิสูจน์ผู้นำที่แท้จริง คือ การเผชิญกับปัญหาแล้วสามารถแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ถอยหนีแม้ว่าจะยุ่งยากแค่ไหนก็ตาม ผู้นำมักจะอยู่ด้านหลังเวลางานนั้นสามารถได้ผลสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ผู้นำจะออกมายืนแถวหน้าทันที เมื่องานนั้นพบกับปัญหาที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น และผู้นำประเภทนี้แหละที่ทีมงานต้องการและไว้วางใจที่สุด

 ความเป็นผู้รับผิดชอบอย่างแท้จริงผู้นำ จะรับทั้งผิดและชอบ ในผลงาน ไม่ว่าผลลัพธ์ จะเป็นเช่นไร ก็ตาม ความรับผิดชอบเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำหลายคนประกาศก้องกันก่อนทำงานว่า ยินดีรับผิดชอบทุกอย่าง และเมื่อนั้น ทีมงานก็จะมีหัวใจพองโต ที่พร้อมจะลุยไปข้าหน้าร่วมกับผู้นำเอง แต่หากผู้นำขาดความรับผิดชอบ แล้วไซด์ เชื่อได้เลยว่า คุณคงต้องเดินโดยลำพังแน่นอนเลย

คุณสมบัติความเป็นผู้นำ เด่นๆ เหล่านี้ ผมใช้ในการฝึกฝนตัวเอง อยู่เรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ วัน เพราะผมมีความเชื่อว่า การสร้างภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) เป็นเรื่องที่ “ทำได้” และต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่สามารถหยุดได้ เพราะเรื่องภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่เรียนรู้ไม่จบสิ้น จึงอยากเชิญชวน ให้พวกเราลองนำไปพัฒนาตัวเองดู แล้วคอยสังเกตดูว่าตัวเราเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยการสังเกตกับคนรอบข้างเราก็ได้

จากประสบการณ์ของผม ที่เกิดกับตัวเอง และเกิดกับ Coachee หลายๆ คนที่พัฒนาตัวเองเพื่อให้มีภาวะความเป็นผู้นำสูงขึ้นนั้น จะเกิดจากความรู้สึกว่าคนรอบข้างเราเปลี่ยนไป เมื่อปฏิบัติกับเรา เช่นตั้งใจฟังเรามากขึ้น, กลัวเราน้อยลง, อยากพูดคุยกับเรามากขึ้น, ทำในสิ่งที่เรามอบหมายให้ดีขึ้น เป็นต้น แรกๆ ผมก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมหลายๆคน เปลี่ยนแปลงไป (แต่ผมก็ชอบนะครับ) สุดท้ายมานั่งวิเคราะห์อีกที พบว่าเป็นเพราะเราเปลี่ยนแปลงไปนี่เอง เลยทำให้ ผู้อื่นรู้สึกในภาวะความเป็นผู้นำของเรามากขึ้น เสมือนหนึ่งว่าเรามีอิทธิพล(Influence) ต่อเขามากขึ้น สิ่งใดที่เรามอบหมายก็จะได้รับการตอบสนองในด้านที่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาไปเลย

ความหมายของภาวะความเป็นผู้นำ มีมากมาย ผมขอนำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแง่คิด สำหรับการพัฒนาตัวเอง ดังนี้ครับ

ภาวะความเป็นผู้นำ… คือ• การแบกรับความรับผิดชอบในขณะที่ผู้อื่นสรรหาคำแก้ตัว
• จุดแรงบันดาลใจ วาดภาพให้ผู้อื่นมองเห็นศักยภาพในการทำประโยชน์ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา
• การมองเห็นโอกาสในขณะที่ผู้อื่นมองเห็นวิกฤต
• การทำฝันให้เป็นจริง
• ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยไม่กลัวความล้มเหลว
การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัว หรือไปทำกันเมื่อขึ้นเป็นผู้จัดการ หรือผู้บริหารแล้วเท่านั้น แต่ควรเรียนรู้ และพัฒนาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อทำให้การขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นนั้น มีความพร้อมอย่างเต็มเปรี่ยมทั้งด้านทักษะการทำงาน (Hard Skill) และภาวะความเป็นผู้นำ (Soft Skill) หากองค์กรใดให้ความสำคัญเรื่องภาวะความเป็นผู้นำกับบุคคลทุกระดับแล้ว ก็จะทำให้องค์กรนั้นพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในทุกระดับได้ โดยไม่ต้องกังวลใจเลย


23/FEBRUARY/2014

แสดงความคิดเห็น

Translate






[facebook]

Author Name

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

ขับเคลื่อนโดย Blogger.